(เลือกที่รูปเพื่ออ่านฉบับเต็ม)
Product Update กองทุนบัวหลวงปัจจัย 4
โดย Product Management กองทุนบัวหลวง
ตั้งแต่ต้นปี 63 (ม.ค. – ก.ค.) กองทุนให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (SET TRI) โดยผลตอบแทนของกองทุนเปิดบัวหลวงปัจจัย 4 อยู่ที่ -8.43% ในขณะที่เกณฑ์มาตรฐาน (SET TRI) อยู่ที่ -13.82% และหากอ้างอิงสัดสัดส่วนลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรกพบว่า
กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม
ในช่วงครึ่งปีแรก กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ผลตอบแทนของกลุ่มโดนกระทบจากไวรัสโควิด-19 ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เงินบาทแข็ง และภัยแล้ง แต่ในช่วงครึ่งปีหลังโดยรวมกำไรของบริษัทน่าจะออกมาดี
• กลุ่มอาหารได้อานิสงค์จากราคาเนื้อสัตว์ที่ขยับสูงขึ้น ราคาหมูและไก่ในไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง จนทำจุดสูงสุดในรอบ 3 เดือน อานิสงค์จากการเปิดเมืองหนุนการบริโภคเนื้อสัตว์คึกคักมากขึ้น ขณะที่การระบาดของ COVID-19 ในสหรัฐฯ และบราซิล ทำให้โรงแปรรูปเนื้อสัตว์บางส่วนต้องปิดชั่วคราว ถือเป็นโอกาสในการส่งออกไก่ของไทยในระยะยาว
• กลุ่มเครื่องดื่มนอกจากยอดขายจะโตได้จากในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน การคุมรายจ่าย ลดโฆษณาโปรโมชั่นยังช่วยผลักดันกำไร นอกจากนี้กลุ่มเครื่องดื่ม Functional drink ที่มีส่วนผสมของน้ำผักผลไม้ไม่ต่ำกว่า 10% อาจได้ลดภาษีเครื่องดื่มเหลือ 3% จาก 10%
กลุ่มพาณิชย์
กลุ่มค้าปลีกทำจุดต่ำสุดในไตรมาส 2/63 และคาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลังของปี 2563 หลังจากที่รัฐบาลผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์มากขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังไม่กลับสู่ระดับระดับปกติ เนื่องจากกำลังซื้อยังคงอยู่ในระดับต่ำอย่างไรก็ดี ต้องติดตามมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจจาก ครม. ชุดใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ รวมถึงมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวไทยซึ่งจะช่วยหนุนบรรยากาศจับจ่ายใช้สอย และความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้
• ปัจจัยกดดันคลี่คลายเยอะมากแล้ว ทั้งการยกเลิกเคอร์ฟิว และห้ามขายแอลกอฮอล์ รวมถึงการเดินทางที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นหลังคลาย Lockdown
• อานิสงส์มาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว หนุนให้ Same Store Sales Growth (SSSG) หรือการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม น่าจะเริ่มกลับมาดีขึ้น
• เริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าปรับปรุงบ้านและไอที (ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เร่งระบายสต็อคสินค้า โดยปรับลดราคาลง และพฤติกรรมที่คนอยู่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความต้องการซ่อมแซมบ้าน)
กลุ่มวัสดุก่อสร้าง
ช่วงต้นปี สภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นกลุ่มหลักในการใช้วัสดุก่อสร้างอยู่ในภาวะซบเซา โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมที่ปจจุบันอยู่ในภาวะ Oversupply อย่างมาก เช่นเดียวกับโครงการภาครัฐที่ได้รับกระทบจากการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้า และการปรับลดงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำเงินไปสู้ภัยโควิด
• จากปัจจัยข้างต้น จึงเกิดความคาดหวังว่าในไตรมาส 3/63 จะเริ่มดีขึ้น เนื่องจากเป็นไตรมาสแรกที่ภาคธุรกิจได้กลับมาดำเนินงานตามปกติเต็มไตรมาสและเป็นไตรมาสสุดท้ายสำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ขณะที่ไตรมาส 4/63 จะได้แรงหนุนจากการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2564 นอกจากนี้ยังมี Upside จากการเบิกจ่ายงบฉุกเฉินเพื่อสู้กับโควิด-19 ที่อาจนำมาใช้ในการพัฒนาถนนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
• การผลักดันโครงการก่อสร้างภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องใน 1 – 2 ปีข้างหน้า เนื่องจากตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยทั้งสองออก และท่องเที่ยวยังมีอุปสรรคจากต่างประเทศ
• ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะธุรกิจวัสดุก่อสร้างยังมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และความล่าช้าในการอนุมัติโครงการก่อสร้างใหม่ของภาครัฐ
กลุ่มการแพทย์
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างฉับพลันได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจโดยรวม เพราะผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนักจริงพร้อมกับผู้ป่วยหมอนัดจะเลี่ยงรับการรักษาออกไปก่อน ประกอบกับการเดินทางข้ามประเทศมีข้อจำกัด ส่งผลให้รายได้จากผู้ป่วยชาวต่างชาติลดลง ดังนั้นจึงสร้างแรงกดดันต่อผลการดำเนินงานของกลุ่มโรงพยาบาล เนื่องจากจำนวนผู้มาใช้บริการโรงพยาบาลลดลงเมื่อเทียบกับที่ผ่านมา สะท้อนได้จากรายได้หลักจากค่ารักษาพยาบาลกลับมีรายได้ลดลงในไตรมาส 1/63
• หากย้อนไปในปี 2546 และป 2558 ที่เกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรคซาร์สและโรคเมอร์ส จะเห็นได้ว่า “หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล” ได้รับประโยชน์จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น หลังคนเริ่มตื่นตัวในการตรวจสุขภาพและรักษามากขึ้น
• กรณีที่รัฐบาลมีแผนที่อาจจะใช้ Travel Bubble กับกลุ่มประเทศที่มีการติดเชื้อโควิด-19 ต่ำ เพื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์ ถ้าเปิดจริงปัจจัยดังกล่าวก็อาจจะสนับสนุนการฟื้นตัวของกำไรให้กับกลุ่มโรงพยาบาลที่เน้นผู้ป่วยต่างชาติ
• จากผลกระทบโควิด-19 ที่รุนแรง ทั้งจากกลุ่มผู้ป่วยต่างชาติ Fly-in และผู้ป่วยนอก แต่ราคาหุ้นที่ปรับฐานหนักช่วงก่อนหน้าทำให้การลดลงของราคาน่าจะอยู่ในวงจำกัด
กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
ในช่วงต้นปี 2563 กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ผลพวงต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปี 2562 จากมาตรการกำกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย LTV ที่กดดันตลาดให้อยู่ในสภาพซึมยาว แม้จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือหลายครั้ง ก็ยังไม่เพียงพอ ปัจจัยดังกล่าวนี้ส่งผลให้ผลประกอบการของกลุ่มหดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมไปถึงภาวการณ์ชะลอเปิดตัวโครงการใหม่ และยอดขายอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง จากอุปสงค์ในประเทศจะลดลงจากความไม่แน่นอนของรายได้ในอนาคต และการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่เข้มงวดขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้รับผลกระทบจากการชะลอการโอนของลูกค้าต่างชาติด้วย เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า ส่วนนิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากไวรัสโควิด-19 ทำให้การเดินทางติดต่อ ศึกษา ดูงาน และเจรจาซื้อขาย/โอนที่ดินลดลง โดยเฉพาะภายหลังที่ไทยได้ประกาศปิดพื้นที่ในหลายๆ พื้นที่ รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอถึงหดตัว ทำให้มีแนวโน้มเลื่อนการลงทุนที่มีมูลค่าสูงอย่างการขยายโรงงาน หรือซื้อพื้นที่ในนิคมฯ ลดลง
• กลุ่มที่อยู่อาศัย คาดว่ายอดขายที่ต่ำสุด (Bottom) คือในช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 ได้ผ่านไปแล้ว ส่วนในไตรมาส 2 ปี 2563 โดยรวมดีขึ้น และครึ่งปีหลังจะมีการเปิดขายโครงการใหม่กันมากขึ้น นับได้ว่ากลุ่มนี้มีความน่าสนใจเรื่องเงินปันผลที่สูง อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ราว 6% ขณะเดียวกันสภาพแวดล้อมก็ยังท้าทาย เช่น กำลังซื้อ หนี้ครัวเรือน และเกณฑ์ LTV
• ความต้องการที่อยู่อาศัยแนวราบที่มีการฟื้นตัวชัดเจน หลังเจอโควิด-19 บวกกับการจัดแคมเปญพิเศษ ช่วยหนุนต่อ Presale และยอดโอนฯในไตรมาส 2/63 เติบโตดีขึ้น แต่ในเชิงประสิทธิภาพทำกำไรยังถูกกดดันจากมาร์จิ้นที่หดตัว ผลจากการทำโปรฯ ลดราคา ดังนั้นยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
• นิคมอุตสาหกรรม คาดว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่ทุเลาลงโดยเฉพาะในจีนที่ทยอยดีขึ้นเป็นลำดับ ทำให้เวลานี้นักลงทุนจีนเริ่มทยอยกลับมาโอนเงินและทำธุรกรรมกับทางนิคมอุตสาหกรรมไทยได้อีกครั้ง ประกอบกับฐานการผลิตในจีนสามารถกลับมาผลิตอีกครั้งแล้ว ทำให้ความกังวลเรื่องวัตถุดิบขาดแคลนคลี่คลายลงไป และความคาดหวังโอกาสย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทย หลังจากสงครามการค้าจีน – สหรัฐตึงเครียดขึ้นอีกครั้ง
ข้อมูลในบทความนี้เป็นข้อมูลที่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ ซึ่งนักลงทุนสามารถเข้าถึงได้โดยทั่วไป และเป็นข้อมูลที่เชื่อว่าน่าจะเชื่อถือได้ แต่ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (“บริษัท”) มิได้ยืนยันหรือรับรองถึงความถูกต้อง หรือสมบูรณ์ของข้อมูลดังกล่าวแต่อย่างใด ความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นเพียงการนำเสนอในมุมมองของบริษัท และเป็นความคิดเห็น ณ วันที่ปรากฏในบทความเท่านั้น ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ภายหลังวันดังกล่าว โดยบริษัทไม่จำเป็นต้องแจ้งสาธารณชน หรือผู้ลงทุนทราบ บทความฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้น บริษัทไม่รับผิดชอบต่อการนำข้อมูลหรือความคิดเห็นใดๆไปใช้ในทุกกรณี ดังนั้นผู้ลงทุนควรใช้ดุลพินิจในการพิจารณา เนื่องจากการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน