จีนข้อมูลธ.ค.เร่งตัวขึ้น ลุ้น GDP ปี 2020

BF Economic Research, กองทุนบัวหลวง

GDP
GDP ไตรมาส 4 ขยายตัว 6.0% YoY เท่ากับไตรมาสก่อนซึ่งนับเป็นการขยายตัวต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1992 โดย GDP ทั้งปี 2019 ชะลอตัวลงเป็น 6.1% YoY จาก 6.6% YoY ในปีก่อน
ในรายอุตสาหกรรม พบว่ากลุ่มเกษตร และกลุ่มการผลิตขยายตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ซึ่งหากพิจารณาร่วมกันการขยายตัวเมื่อเทียบไตรมาสก่อน เราเริ่มเห็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจจีนอาจจะ Bottom Out ในปีนี้ เราได้ประมาณการว่า GDP ปี 2019-2020 ของจีนจะคงที่ที่ 6.0% แต่จากข้อมูลรายเดือนที่ออกมาดี ทำให้เราคาดว่า GDP จีนในปี 2020 น่าจะมี Upside
ตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือน
กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดือน ธ.ค. เร่งตัวขึ้นดีกว่าที่คาดทั้งในภาคการผลิต การลงทุน และการบริโภค ส่วนหนึ่งเป็นผลดีจากนโยบายทั้งการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายมากขึ้น
ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) เดือน ธ.ค. เร่งตัวขึ้นเป็น 6.9% YoY จาก 6.2% YoY ในเดือนก่อน ซึ่งนับเป็นการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. จากอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เร่งตัวขึ้นแรง (8.1% YoY vs. 3.7%) ขณะที่ผลผลิตในอุตสาหกรรมหลักอื่นๆ ทั้งน้ำมันดิบและเหล็กเร่งตัวขึ้นเช่นเดียวกัน
ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือน ธ.ค. ขยายตัว 8.0% YoY เท่ากับเดือนก่อน จากแรงหนุนของยอดขายรถยนต์ที่พลิกกลับมาขยายตัว (1.8% YoY vs. -1.8% เดือนก่อน) หลังหดตัวต่อเนื่อง 5 เดือนติด
การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets Investment) เดือน ธ.ค. ฟื้นตัวขึ้นเป็น 5.4% YoY YTD ดีกว่าเดือนก่อนที่5.2% โดยการลงทุนในภาคการผลิตฟื้นตัวขึ้น (3.1% vs. 2.5% เดือนก่อน) ขณะที่การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ (9.9% vs.10.2% เดือนก่อน) และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (3.8% vs. 4.0% เดือนก่อน) ชะลอตัวลง
ยอดส่งออก (Exports) เดือน ธ.ค. พลิกกลับมาขยายตัว 7.6% YoY จาก -1.3% YoY ในเดือนก่อน โดยนับเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำของช่วงเดียวกันปีก่อนที่ช่วยหนุน
ในรายประเทศ ส่งออกไป ASEAN (27.4% YoY vs. 18.0% เดือนก่อน) และ EU (6.6% YoY vs. -3.8% เดือนก่อน) เร่งตัวขึ้นแรง ขณะที่ส่งออกไปสหรัฐฯ (-14.6% YoY vs. -23.0% เดือนก่อน) และญี่ปุ่น (-3.4% YoY vs. -7.8% เดือนก่อน) ฟื้นตัวขึ้นแต่ยังคงอ่อนแอ
ทั้งปี 2019 ส่งออกของจีนขยายตัว 0.5% YoY ต่ำสุดในรอบ 3 ปี โดยส่งออกไปสหรัฐฯ ได้หดตัวแรง -12.5% YoY จากผลกระทบของสงครามการค้า
ด้านยอดนำเข้า (Imports) เร่งตัวขึ้นแรงเป็น 16.3% YoY จาก 0.8% YoY ในเดือนก่อน โดยนับเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบกว่า 1 ปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำของช่วงเดียวกันปีก่อน โดยในรายงานระบุว่ายอดนำเข้าเร่งตัวขึ้นจาก ASEAN (29.0% YoY) และญี่ปุ่น (16.4% YoY)
ส่วนยอดนำเข้าจากสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้นเป็น 7.9% YoY (vs. 2.6% เดือนก่อน) โดยนับเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังจากที่หดตัวต่อเนื่อง 14 เดือน ทั้งนี้ ยอดนำเข้าถั่วเหลืองได้ขยายตัวสูงต่อเนื่องจากเดือน พ.ย. (66.8% YoY vs. 53.9% เดือนก่อน) สอดคล้องกับช่วงเจรจาการค้า Phase 1 กับสหรัฐฯ โดยรายงานไม่ได้ระบุยอดนำเข้าถั่วเหลืองแยกเป็นรายประเทศ แต่คาดได้ว่าเป็นการนำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นหลัก สำหรับดุลการค้าเดือน ธ.ค. เกินดุล 46.76bn usd เพิ่มขึ้นจาก 37.62bn usd ในเดือนก่อน
ยอดระดมทุนรวมสุทธิ (Total Social Financing) เดือน ธ.ค.เพิ่มขึ้นเป็น 2,100 bn rmb จาก 1754.7 bn rmb ในเดือนก่อน จากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายและการปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณ โดยตัวเลขยอดระดมทุนนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. เป็นต้นไป จะคิดรวมยอดออกพันธบัตรรัฐบาลทั้งหมด จากเดิมที่คิดเพียงพันธบัตรรัฐบาลฉบับพิเศษเท่านั้น (ซึ่งหากคำนวณแบบเก่า ยอดระดมทุนรวมสุทธิจะเพิ่มขึ้นเพียง 1,760.0bn rmb) ตามการคำนวณแบบใหม่ ยอดออกพันธบัตรรัฐบาลได้เพิ่มขึ้นเป็น 374.0bn rmb (vs. 171.6bn rmb เดือนก่อน) จากการออกพันธบัตรของรัฐบาลกลางเป็นหลัก ซึ่งได้ช่วยหนุนการเพิ่มขึ้นของยอดระดมทุนในเดือนนี้
ยอดปล่อยกู้เงินหยวน (New Yuan Loans) ลดลงเป็น 1,140.0bn rmb จาก 1,388.0bn rmb ในเดือนก่อน และยอดปล่อยสินเชื่อนอกภาคธนาคาร (Shadow Banking) ซึ่งได้แก่ Trust loans และ Entrusted loans ยังคงเป็นปัจจัยฉุด โดยติดลบเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น -240.73bn rmb (vs. -163.26 bn rmb เดือนก่อน)
ส่วนยอดออกตั๋วเงิน (Banker’s Acceptance) ซึ่งนิยมออกโดยธุรกิจเอกชนขนาดเล็กเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 95.14bn rmb (vs. 56.96bn rmb เดือนก่อน) และยอดออกหุ้นกู้ (Corporate Bonds) ลดลงเล็กน้อยเป็น 262.55bn rmb (vs. 332.97bn rmb เดือนก่อน)
มุมมองข้างหน้า
ในเชิงนโยบายเราคาดว่า ยังมีโอกาสที่ PBoC จะผ่อนคลายนโยบายการเงินลงเพิ่มเติมอีก (ทั้ง RRR และดอกเบี้ย MLF) ทั้งนี้เมื่อวันที่ 6 ม.ค. PBoC ได้ปรับลด RRR ไป 50 bps นอกจากนี้ ยอดออกพันธบัตรท้องถิ่นฉบับพิเศษมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแรงจากการที่รัฐบาลอนุญาตให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถใช้โควต้าการออกพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่นฉบับพิเศษได้ตั้งแต่ต้นปี

คำเตือน ข้อมูลในบทความนี้เป็นข้อมูลที่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ ซึ่งนักลงทุนสามารถเข้าถึงได้โดยทั่วไป และเป็นข้อมูลที่เชื่อว่าน่าจะเชื่อถือได้ แต่ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (“บริษัท”) มิได้ยืนยันหรือรับรองถึงความถูกต้อง หรือสมบูรณ์ของข้อมูลดังกล่าวแต่อย่างใด ความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นเพียงการนำเสนอในมุมมองของบริษัท และเป็นความคิดเห็น ณ วันที่ปรากฏในบทความเท่านั้น ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ภายหลังวันดังกล่าว โดยบริษัทไม่จำเป็นต้องแจ้งสาธารณชน หรือผู้ลงทุนทราบ บทความฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้น บริษัทไม่รับผิดชอบต่อการนำข้อมูลหรือความคิดเห็นใดๆไปใช้ในทุกกรณี ดังนั้นผู้ลงทุนควรใช้ดุลพินิจในการพิจารณา เนื่องจากการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน

January 20, 2020