BF Monthly Economic Review มิ.ย. 2562

สรุปประเด็นเศรษฐกิจสำคัญเดือน มิ.ย. 2562

ในช่วงเดือน มิ.ย. ภาพเศรษฐกิจยังคงดู Soft ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า แต่ตลาดกลับให้ผลตอบแทนที่ดีเนื่องด้วยตลาดมีความคาดหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งในแง่ของพื้นฐานของเศรษฐกิจเรายังไม่คิดว่า Fed จะด่วนปรับทิศทางนโยบายการเงินอย่างรวดเร็วขนาดนั้น เพราะตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ก็ยังแข็งแกร่ง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อก็ยังขยายตัวได้

แต่ในแง่นัยยะของการลงทุนนั้น เรายังคิดว่าความคาดหวังต่อการปรับลดดอกเบี้ยยังมีอยู่ ผนวกกับตลาดก็ยังก็มีความคาดหวังผลสัมฤทธิ์ในเรื่องการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่ง ณ ตอนนี้ สองความคาดหวังนี้ก็เป็นแรงส่งให้ตลาดให้ผลตอบแทนที่ดี

อย่างไรก็ดี ตามที่เรียนไปข้างต้นว่า ตลาดเคลื่อนไหวด้วยความคาดหวัง นั่นหมายความว่า หากตลาดหวังผิดทาง ตลาดก็อาจจะปรับตัวลงมาได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น นักลงทุนอาจจะต้องลงทุนด้วยความระมัดระวัง ในช่วงตลาดขาขึ้นด้วย เพราะปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ณ ตอนนี้ ยังไม่ได้ดีขนาดนั้น
สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจรายประเทศนั้น เราพบประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

  1. ประเทศในกลุ่ม East Asia ได้รับผลกระทบจาก Trade War อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะประเทศที่มี Supply China ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน ส่วนกลุ่มประเทศอาเซียนที่รับผลกระทบจาก Trade War ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย และอินโดนีเซีย
  2. ตัวเลขเศรษฐกิจรายประเทศยังดูไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะจีน ที่เราพบว่าภาพเศรษฐกิจ Soft ลงจากภาคการผลิต และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ด้านเศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นก็ไม่ได้พบสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน
  3. ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัว ทำให้ธนาคารกลางหลายๆ ประเทศในอาเซียน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ทยอยปรับดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่จีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายคลังและนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง
  4. ด้านเศรษฐกิจไทย เราเห็นสัญญาณการบริโภคชะลอตัวลง จากยอดขายรถยนต์ในเดือน พ.ค. ตัวเลขนักท่องเที่ยวพลิกกลับมาหดตัวจากนักท่องเที่ยวจีน ขณะที่การส่งออกไทยติดลบสามเดือนต่อเนื่อง หลักๆ มาจากการส่งออกไปจีน อย่างไรก็ตามเราพบว่าการส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ ขยายตัวอย่างโดดเด่นในหลายรายการสินค้า ด้านดอกเบี้ยนโยบายของไทย หากพิจารณาจากการปรับดอกเบี้ยในอดีต เราคิดว่า ธปท. ยังไม่น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ และจาก Stance ดังกล่าว ก็ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าสูงสุดในภูมิภาค

ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นเดือน มิ.ย. ของยูโรโซนและญี่ปุ่นยังอยู่ในเกณฑ์หดตัว ขณะที่ดัชนีของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 9 ปี ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้น

  • สหรัฐฯ : ดัชนีโดย Markit ปรับตัวลดลง -0.4 จุด เป็น 50.1 จุด ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2009 เท่ากับเดือนก่อน จากการปรับลดลงของผลผลิตและการจ้างงาน
  • ยูโรโซน : ดัชนีฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย +0.1 จุด เป็น 47.8 จุด โดยดัชนีของเยอรมนี (+1.1, 45.4 จุด) และฝรั่งเศส (+1.4, 52.0 จุด) ฟื้นตัวขึ้น
  • ญี่ปุ่น : ดัชนีปรับตัวลดลง -0.3 จุด เป็น 49.5 จุด จากยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่ปรับตัวลดลงมาก

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอย่างเป็นทางการ (Final Manufacturing PMI) เดือน พ.ค. ของประเทศส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง โดยดัชนีของยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันซึ่งเป็นประเทศเน้นการส่งออก อยู่ในเกณฑ์หดตัว (ต่ากว่า 50 จุด) ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นกดดันภาคการผลิต

ดัชนี Global Manufacturing PMI ปรับตัวลดลง -0.6 จุด เป็น 49.8 จุด ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2012 จากผลผลิตและยอดคำสั่งซื้อที่ลดลง โดยเฉพาะยอดคำสั่งซื้อภายนอกประเทศที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง 9 เดือนและอยู่ในเกณฑ์หดตัวที่ 49.0 จุด

  • สหรัฐฯ : ดัชนีโดย ISM ปรับตัวลดลง -0.7 จุด เป็น 52.1 จุด ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2016 ตามการปรับลดลงของผลผลิต ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงานฟื้นตัวขึ้น
  • ยูโรโซน : ดัชนีปรับตัวลดลง -0.2 จุด เป็น 47.7 จุด จากยอดคำสั่งซื้อทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ปรับลดลงต่อเนื่อง โดยดัชนีของเยอรมนี (-0.1, 44.3 จุด) และสเปน (-1.7, 50.1 จุด) ปรับตัวลดลง ขณะที่ดัชนีของฝรั่งเศส (+0.6. 50.6 จุด) และอิตาลี (+0.6, 49.7 จุด) ฟื้นตัวขึ้น
  • อังกฤษ : ดัชนีปรับตัวลดลง -3.7 จุด เป็น 49.4 จุด ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2016 จากผลกระทบของ Brexit
  • จีน : ดัชนีโดย Caixin ทรงตัวที่ 50.2 จุด เท่ากับเดือนก่อน โดยผลผลิต (-0.6, 50.1 จุด) ปรับตัวลดลง ขณะที่ยอดคำสั่งซื้อทั้งภายใน (+0.3, 50.7 จุด) และภายนอกประเทศ (+1.3 จุด เป็น 50.4 จุด) ฟื้นตัวขึ้น อย่างไรก็ดี ดัชนีออกมาสวนทางกับของทางการจีน (Official Manufacturing PMI) ที่ปรับตัวลดลง 49.4 จุด โดยเฉพาะยอดคำสั่งซื้อภายนอกประเทศที่ปรับตัวลดลงอยู่ในเกณฑ์หดตัวต่อเนื่อง (-2.7, 46.5 จุด) ซึ่งสะท้อนได้ว่ายังไม่มีสัญญาณของการเร่งสั่งซื้อสินค้าเพื่อกักตุนก่อนภาษีใหม่จะมีผลบังคับใช้ (สินค้าจีนกลุ่ม 3 แสนล้านดอลลาร์ฯ ที่สหรัฐฯ ขู่ขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มเติม ซึ่งเร็วสุดอาจเป็นปลายเดือนนี้)
  • ญี่ปุ่น : ดัชนีปรับตัวลดลง -0.4 จุด เป็น 49.8 จุด กลับมาอยู่ในเกณฑ์หดตัว (ต่ำกว่า 50 จุด) อีกครั้ง จากผลผลิตและยอดคำสั่งซื้อใหม่ที่ปรับตัวลดลง
  • ตลาดเกิดใหม่ (EM) : ดัชนีปรับตัวลดลง -0.1 จุด เป็น 50.4 จุด โดยดัชนีของเกาหลีใต้ (-1.8, 48.4 จุด) และบราซิล (-1.3, 50.2 จุด) ปรับตัวลดลง ขณะที่ดัชนีของอินเดีย (+0.9, 52.7 จุด) และไต้หวัน (+0.2, 48.4 จุด) ปรับตัวเพิ่มขึ้น
July 1, 2019