คณะกรรมาธิการยุโรป หรือ European Commission (EC) รายงานผลการประเมินนโยบายการคลังของอิตาลีเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ในปี 2018 รัฐบาลอิตาลีได้ดำเนินนโยบายการคลังอย่างขาดความรอบคอบ และไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบของอียูในการควบคุมหนี้สาธารณะของตัวเอง รวมทั้งมีแนวโน้มจะเป็นเช่นนี้ไปจนถึงปี 2020 สำหรับหนี้สาธารณะของอิตาลีนั้นมีสูงถึง 132.2% ต่อจีดีพีในปี 2018 ซึ่งมากกว่าระดับที่อียูกำหนดไว้
ทั้งนี้ อียูมีความกังวลเกี่ยวกับระดับหนี้สาธารณะของอิตาลีเป็นอย่างมาก เนื่องจากอิตาลีมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ในอียูโซน แต่กลับมีหนี้สาธารณะสูงถึงอันดับ 2 ในอียูโซน ทำให้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอียูในภาพรวมอย่างมีนัยสำคัญ ถ้าหากพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีเกิดผิดนัดชำระหนี้ (Default)
ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและการเงินของอียู ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าธนาคารกลางของแต่ประเทศสมาชิก จะหารือร่วมกันว่าจะดำเนินมาตรการทางวินัยกับอิตาลีหรือไม่ ซึ่งถ้าคณะกรรมการฯ มีความเห็นว่าควรดำเนินมาตรการ คณะกรรมาธิการยุโรปจะเรียกร้องให้อิตาลีลดการขาดดุลงบประมาณการคลังลง จนอยู่กรอบของอียูภายในระยะเวลา 3-6 เดือน ผ่านการปรับอัตราภาษีขึ้น และลดการใช้จ่ายของรัฐบาลลง ซึ่งหากอิตาลีไม่ให้ความร่วมมือ คณะกรรมาธิการยุโรปจะประกาศคว่ำบาตร และทำให้อิตาลีต้องจ่ายค่าปรับให้กับอียูสูงสุดถึง 0.5% ของจีดีพี รวมทั้งอิตาลีจะได้เงินกู้จาก European Investment Bank น้อยลงถึงหลายพันล้านยูโร
หลังจากการรายงานของคณะกรรมาธิการยุโรป ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีปรับตัวพุ่งสูงขึ้นไปแตะระดับ 2.631% ในขณะที่ราคาหุ้นธนาคารอิตาลีก็ร่วงลงมา -2.3% ในระยะข้างหน้าเรามองว่า ความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในอิตาลี จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และกดดันตลาดเงินตลาดทุนของยุโรปโดยรวมให้ผันผวนต่อไป โดยเฉพาะในช่วงนี้ไปจนถึงช่วงที่อิตาลีประกาศตัวเลขเป้าหมายด้านการคลังต่ออียูในเดือน ก.ย.-ต.ค.