ภาพรวมการส่งออกเดือน มี.ค.

  • การส่งออกไทยเดือนมี.ค. หดตัว -4.88%YoY จากเดือนก่อนที่ 5.9%
  • การนำเข้ายังคงหดตัว -7 .63%YoY เทียบกับเดือนก่อนที่หดตัว -10.03%
  • ดุลการค้าของไทยเดือนมี.ค. ยังคงเกินดุลที่ 2.005 พันล้านดอลลาร์ฯ แต่ลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุล 4.027 พันล้านดอลลาร์ฯ

YTD

  • ไตรมาส 1 ปี 2019 (ม.ค.-มี.ค.) การส่งออกมีมูลค่า 61,987.8 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัว -1.64% การนำเข้ามีมูลค่า 59,981.1 ล้านดอลลาร์ฯ ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า YTD 2,004.7 ล้านดอลลาร์ฯ
  • การส่งออกไทยได้รับผลกระทบตามแนวโน้มการค้าโลกและอุปสงค์ของคู่ค้าสำคัญ ซึ่งมาจากประเด็นข้อพิพาททางการค้าที่ยังคงยืดเยื้อ รวมทั้งจากปัจจัยภายนอกอื่นๆ อาทิ ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าในสหรัฐฯ และการเมืองในยุโรป รวมถึงความเสี่ยงของภาคสินเชื่อและธนาคารของจีน

    สำหรับประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯนั้น กระทรวงพาณิชย์คาดว่า จะได้ข้อสรุปในเดือนมิ.ย. ปีนี้ เป็นผลให้การจะผลักดันให้การส่งออกขยายตัวได้ 8% ในปีนี้ ค่อนข้างยาก ซึ่งหากจะให้ขยายตัว 8% ในแต่ละเดือนจะต้องมีมูลค่าส่งออกเฉลี่ย 23,000 ล้านดอลลาร์ฯ แต่หากอยู่ในช่วงเฉลี่ย 21,000-22,000 ล้านดอลลาร์ฯ การส่งออกจะขยายตัวได้ 3-6%

ในรายสินค้า

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวที่ 3.2% YoY โดยสินค้า
ที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่

  • ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 30.0% YoY (ขยายตัวระดับสูง ในตลาดจีน และตลาดอื่นๆ อาทิ เวียดนาม ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย)
  • ไก่สด แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัว 14.2%YoY (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้)
  • ยางพารา กลับมาขยายตัวในรอบ 16 เดือน 6.5%YoY (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และอินเดีย)

ส่วน สินค้าเกษตรสำคัญที่หดตัว ได้แก่

  • น้ำตาลทราย หดตัว -23.0% YoY (หดตัวในตลาดไต้หวัน กัมพูชา ญี่ปุ่น มาเลเซีย และเมียนมา แต่ยังขยายตัวอินโดนีเซีย และเกาหลีใต้)
  • ข้าว หดตัว -7.7%YoY (หดตัวในตลาดจีน และแคเมอรูน แต่ขยายตัวได้ดีในตลาดเบนิน สหรัฐฯ และ อังโกลา)
  • ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว -9.4% YoY (หดตัวในตลาดจีน ไต้หวัน และมาเลเซีย แต่ยังขยายตัวได้ดีในญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย)

รวมไตรมาสแรกของปี สินค้าเกษตรหดตัว -0.2% YoY

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว -6.0% YoY สินค้าที่ขยายตัวได้ดีได้แก่

  • รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 5.6% YoY(ขยายตัวระดับสูงในตลาดเวียดนาม และตลาดอื่นๆ อาทิ สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ และสหรัฐฯ)
  • รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัว 20.7% YoY (ขยายตัวในตลาดสหราชอาณาจักร สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และเมียนมา)
  • ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 14.8 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เวียดนามออสเตรเลีย และเกาหลีใต้)
  • เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 20.6% YoY (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น อินเดีย ฮ่องกง เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์)

สินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัว ได้แก่

  • เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว -20.0% YoY (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย และจีน แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดญี่ปุ่น และเวียดนาม)
  • สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัว-11.3% YoY (หดตัวในตลาดจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และ อินเดีย แต่ยังขยายตัวในตลาดมาเลเซีย กัมพูชา และญี่ปุ่น)
  • แผงวงจรไฟฟ้า หดตัว -21.7% YoY (หดตัวในตลาดฮ่องกง ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และจีน แต่ยังขยายตัวในมาเลเซีย)
  • เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล หดตัว -19.5% YoY (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น จีน อินโดนีเซีย และอินเดีย แต่ยังขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ และเยอรมนี)

รวมไตรมาสแรกของปี 2562 มูลค่าสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว -1.5%YoY

Implication ต่อ ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด

เรามองว่าดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดไทยจะเกินดุลลดลงจากปี 2018 เนื่องจากฐานสูงและผลจาก Trade Tension

มีความเป็นไปได้ที่ดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปี 2019 จะอยู่ในกรอบ 3.3-3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ จากปีก่อนที่ 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ

April 25, 2019